เมนู

ฉันนั้น ปัญญาที่เกิดในสันดานท่านโยคาวจรผู้ประเสริฐ เกิดขึ้นกระทำกิจและดับมิให้กลับเกิดใหม่
แต่กิจเห็นพระไตรลักษณ์ยังประจักษ์อยู่ ขอบพิตรจงรู้ในพระราชสันดานด้วยประการดังนี้
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ทรงฟังก็โสมนัสในอุปมา จึงตรัสว่า กลฺโลสิ พระผู้เป็นเจ้า
วิสัชนามานี้สมควรแล้ว
ปัญญานิรุชฌนปัญหา คำรบ 3 จบเท่านี้

ปรินิพพานปัญหา ที 4


ราชา

สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามอรรถปัญหาอันอื่น
สืบไปเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า บุคคลที่ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดใหม่ในภพ
เบื้องหน้านั้น จะได้เสวยทุกข์บ้างหรือว่าหามิได้
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐคนที่
ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดอีกนั้นเสวยทุกข์บ้างไม่เสวยทุกข์บ้าง
พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงตรัสซักว่า อย่างไรไม่เสวยทุกข์ อย่างไรเสวยทุกข์
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
ท่านที่ไม่เกิดอีกนั้น เสวยแต่กายิกทุกข์อันประกอบในกาย มิได้เสวยเจตสิกทุกข์ ขอถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรถามว่า อย่างไรเรียกว่าทุกข์ประกอบในกาย อย่างไร
เรียกว่าทุกข์ประกอบในเจตสิก
พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เหตุ
ปัจจัยอันแต่งกองทุกข์ในกายนั้นยังไม่ดับ ก็ยังมีทุกข์อยู่ และท่านที่เป็นขีณาสพนั้นเสวยทุกข-
เวทนาในกายนั้น เหตุว่ากายของท่านนั้นยังเป็นเชื้ออุปาทานตกแต่ง มีเหตุปัจจัยไปกว่าจะถึง
นิพพานในปัจฉิมชาตินั้น ท่านที่เป็นพระขีณาสพจึงเสวยทุกข์สำหรับกายให้อาพาธเจ็บไข้
และต้องบาดเสี้ยนหนามยอกนั้น ท่านก็ได้เสวยทุกข์อันเจ็บปวดในกาย ของถวายพระพร ที่ท่าน
ไม่เสวยทุกข์อันประกอบในเจตสิกนั้น คือเหตุปัจจัยที่แต่งจิตเจตสิกดับแล้ว ไม่มีโลโภ โทโส โมโห
กิเลสตัณหา กิเลสตัณหาหามิได้มี เหตุดังนั้นทุกข์ในจิตเจตสิกจึงไม่มี มีแต่ทุกข์อันประกอบใน
กาย ขอถวายพระพร

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการซักว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็น
เจ้า ถ้าแม้นว่าพระอรหันต์ขีณาสพเจ้ามีทุกข์เกิดในกายอยู่กระนี้ เหตุไรจึงจะได้ไปนิพพาน
พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะพิตรพระราชสมภาร ท่านเสวยทุกข์ก็
แต่ทุกข์สำหรับกายอันเป็นเชื้อสายอุปทาน ท่านมีราคะปราศจากสันดาน หาเหตุปัจจัยที่จะ
แต่งไปมิได้ ท่านก็คงจะไปนิพพานโดยฤดูกาลอันสมควร แล้วท่านก็ย่างเข้าสู่พระนครเมืองแก้ว
อันกล่าวแล้วคือพระปถโมกขมหานครนิพพาน อันดับซึ่งชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร
มรณกันดาร เป็นที่สุขเกษมเอกันตะบรมสุขปราศจากทุกข์ในสงสาร สมด้วยถ้อยคำพระธรรม-
เสนาบดีสารีบุตรพุทธอัครสาวกวิเศษนิเทศไว้เป็นคาถาดังนี้
นาภินนฺทามิ มรณํ นาภินนฺทามิ ชีวิตํ
กาลญฺจ ปฏิกงฺขามิ เวทนํ ภตฺตการโก ยถา ฯ
นาภินนฺทามิ มรณํ นาภินนฺทามิ ชีวิตํ
กาลญฺจ ปฏิกงฺขามิ สมฺปชาโน ปติสฺสโตติ ฯ

กระแสความในพระคาถานี้ว่า อหํ อันว่าข้า นาภินนฺทามิ มิได้ยินดีบัดนี้ มรณํ ซึ่ง
ความตาย อหํ อันว่าข้า นาภินนฺทามิ มิได้ยินดีบัดนี้ ชีวิตํ ซึ่งจะมีชีวิตเป็นไป ภตฺตการโก
เปรียบดังพ่อครัวเชิญเครื่องเสวยคอยท่าสมเด็จบรมกษัตริย์จะเสวยเมื่อใด ก็จะยกเครื่องไป
ถวายเมื่อนั้น ยถา มีครุวนาฉันใดเล่า อหํ ตัวข้าพเจ้านี้ ปติสฺสโต มีตัณหาปราศจากมี
กิเลสราคะอันขาดจากสันดาน สมฺปชาโน มีสติรู้รอบคอบเป็นอันดี ข้าพเจ้าจะถึงแก่มรณะก็ไม่
ยินดี จะมีชีวิตเป็นตัวเป็นตนอยู่ก็ไม่ยินดี กาลญฺจ ปฏิกงฺขามิ ข้าพเจ้านี้ปรารถนา ซึ่งกาล
อันควรที่จะเข้าสู่พระนิพพาน เปรียบปานดุจพ่อครัวอันคอยกาลอันควรนั้น สิ้นคำพระธรรม
เสนาบดีสารีบุตรเท่านี้ เหตุดังนั้นที่ท่านจะไม่เกิดอีกนั้น ยังมีชีวิตอยู่จะเสวยทุกข์สิ่งเดียวแต่
ทุกข์ในกาย ทุกข์ภายในเจตสิกไม่มี ท่านคอยกาลสมควรของท่านแล้ว ท่านก็เข้าสู่พระนิพ
พานนั้นแหละ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี ได้ฟังพระนาคเสนวิสัชนาฉะนี้ ก็มีน้ำพระทัย
หรรษาทรงพระโสมนัส มีพระโองการตรัสว่า กลฺโลสิ พระผู้เป็นเจ้ากล่าววิสัชนานี้สมควรนี่กระไร
สิ้นวิมติสงสัยของโยม ในกาลบัดนี้
ปรินิพพานปัญหา คำรบ 4 จบเท่านี้

สุขเวทนาปัญหา ที่ 5


ราชา

สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลราช มีสุนทรพจนารถราชโองการตรัสถาม
อรรถปัญหาอื่นอีกเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า สุขเวทนาที่จะเสวยสุขนี้
เล่า จะเป็นกุสลาหรือ หรือว่าจะเป็นอกุสลา หรือว่าจะเป็น อัพยากตา ประการใด
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สุขเวทนานี้จะว่า
เป็นกุสลาก็ว่าได้ จะว่าเป็นอกุสลาก็ว่าได้ จะว่าเป็นอัพยากตาก็ว่าได้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ประกอบด้วยปัญญาปรีชา ถ้าพระผู้เป็นเจ้าว่าฉะนั้นแล้ว โยมยังสงสัย ด้วย
กุศลตกแต่งแล้วก็ให้สุข จะได้ทุกข์หามิได้
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ไฉนบพิตรจึงสำคัญฉะนี้เล่า ถ้าอาตมาจะว่าบ้างว่า บุคคล
แรกกระทำกุศลเสวยทุกข์ เปรียบต่อบุคคลรักษาศีลกระนั้นต้องทรมานอดอยาก ที่เขาทำอกุศล
ได้ความสุขฉะนี้บ้างก็มี เปรียบดุจชายผู้หนึ่ง มือซ้ายตะพายหม้อน้ำ มือข้างนั้นก็เย็นนัก มือ
ข้างขวาถือก้อนเหล็กแดงร้อน นี้แหละจะว่ามือชายทั้งสองข้างร้อนหรือ หรือ จะว่ามือทั้งสองของ
ชายนั้นเย็นเป็นประการใด
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า ไม่รู้แห่งที่จะว่าได้ นะพระผู้เป็นเจ้า โยมนี้เล่ามิ
อาจจะต่อปากพระผู้เป็นเจ้าได้นิมนต์แก้ไขอรรถแห่งเวทนานี้ให้โยมแจ้งแจ่มใสออกไปในกาลบัดนี้
ตโต เถโร ลำดับนั้นพระนาคเสนเถระผู้วิเศษแก้ไขซึ่งเวทนา 108 ประการ ให้
บรมกษัตริย์สันนิษฐานเข้าพระทัยด้วยอภิธรรมกถา ถวายพระพรว่า มหาบพิตรพระราชสมภาร
เวทนามี 108 ประการ จึงจัดเอาเวทนาอันเป็นโสมนัส ฉเคหนิสฺสิตร อันอาศัยอยู่ในอารมณ์ 6
แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณนั้น จัดได้โสมนัสเวทนา 6 จึงจัดเอาโสมนัสเวทนาอันเป็นไป
ในอารมณ์ 6 แห่งท่านผู้ได้ปัญญาวิปัสสนานั้น จัดเป็นโสมนัสเวทนา 6 จึงยกเอาโทมนัสเวทนา
6 ในอารมณ์แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณ 6 และโทมนัสเวทนาในอารมณ์แห่งท่าน ได้
วิปัสสนาปัญญา 6 จัดเอาอุเบกขาเวทนาในอารมณ์แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณนั้น 6 จัด
เอาอุเบกขาเวทนาในอารมณ์แห่งท่านได้วิปัสสนาปัญญานั้น 6 สิริได้เวทนา 36 จึงเอา
เวทนา 36 นี้จัดเป็น อดีต 36 เป็นอนาคต 36 เป็นปัจจุบัน 36 สิริเข้าด้วยกันทั้ง 3 นี้ได้
เวทนา 108 ประการ บพิตรพระราชสมภารจงทราบพระญาณเถิด สุขเวทนาอันเสวยอารมณ์
เป็นสุขนี้จะว่าเป็นฝ่ายกุศลก็ผิด จะว่าเป็นอกุศลก็ผิด จะว่าเป็นอัพยากฤตก็ผิด จะว่าไม่เป็นก็ผิด